จริยธรรมการตีพิมพ์
จริยธรรมการตีพิมพ์ในวารสารสมาคมคณิตศาสตรศึกษา
วารสารสมาคมคณิตศาสตรศึกษา ตระหนักและให้ความสำคัญกับประเด็นจริยธรรมในการตีพิมพ์บทความวิจัยเป็นอย่างมาก เพื่อส่งเสริมความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส และมาตรฐานของวารสารสมาคมคณิตศาสตรศึกษาจริยธรรมของบรรณาธิการ ผู้เขียน และผู้ประเมินบทความจำเป็นต้องยึดตามหลักของ The Committee on Publication Ethics (COPE)” ( https://publicationethics.org/) ร่างบทความใดที่ไม่เป็นไปตามหลักจริยธรรมอาจถูกปฏิเสธการพิจารณาหรือถูกขอให้อธิบายและแก้ไขเพิ่ม บทความทุกบทความจะต้องผ่านการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้องกับบทความอย่างน้อย 3 ท่าน โดยมิได้เปิดเผยชื่อและข้อมูลส่วนตัวของผู้เขียนต่อผู้ประเมิน
บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ (Duties of Authors)
1. ผู้เขียนบทความต้องส่งบทความที่ไม่ได้คัดลอกผลงานทั้งส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดจากเนื้อหาบทความของผู้อื่น และเป็นบทความที่ไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ หรืออยู่ในระหว่างการนำเสนอเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการอื่นใดมาก่อน
2. ผู้เขียนต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
3. ผู้เขียนบทความยินดีแก้ไข ปรับปรุงรูปแบบและคุณภาพของบทความให้มีความถูกต้องและเหมาะสมตามข้อเสนอแนะเบื้องต้นจากกองบรรณาธิการวารสารสมาคมคณิตศาสตรศึกษาก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในขั้นตอนของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความจำนวน 3 ท่าน ในลำดับต่อไป
4. ผู้เขียนบทความจะต้องจัดทำบทความต้นฉบับให้ถูกต้องและครบถ้วนตามรูปแบบ และขนาดตัวอักษรตามแบบฟอร์ม (Template) ที่วารสารกำหนดไว้ใน "คำแนะนำการเขียนบทความ"
5. ผู้เขียนบทความจะต้องมีการอ้างอิงเอกสาร ผลงานวิชาการทุกครั้ง หากนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในผลงานของตนเอง และต้องจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความให้ถูกต้องและครบถ้วนตามอ้างอิงที่มีในเนื้อหาบทความ โดยจัดรูปแบบและตรวจสอบการอ้างอิงตามที่กองบรรณาธิการฯ ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
6. ผู้เขียนไม่ควรนำเอาเอกสารวิชาการที่ไม่ได้อ่านมาอ้างอิง หรือใส่ไว้ในเอกสารอ้างอิง ควรอ้างอิงเอกสารเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสม ไม่ควรอ้างอิงเอกสารที่มากจนเกินไป
7. ผู้เขียนที่มีชื่อในบทความจะต้องเป็นผู้มีส่วนในการจัดทำบทความหรือมีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยจริง
8. ผู้เขียนบทความจะต้องระบุชื่อแหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนในการทำวิจัย และ/หรือมีประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี) ในบทความ และแจ้งให้บรรณาธิการทราบ
9. ผู้เขียนบทความจะต้องยอมรับและเคารพการตัดสินใจในการพิจารณาตีพิมพ์บทความจากบรรณาธิการในทุก ๆ กรณี
10. ผู้เขียนสามารถใช้ AI สำหรับการพิสูจน์อักษรหรือตรวจแก้ภาษา เพื่อปรับปรุงภาษา (readability) หรือปรับปรุงไวยากรณ์ (grammar) ของต้นฉบับบทความได้ และบทความที่ส่งใช้เครื่องมือ AI ในการช่วยสร้างเนื้อหาไม่เกิน 30% ของเนื้อหาทั้งหมด
บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมิน (Duties of Reviewers)
1. ผู้ประเมินบทความมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพ ความถูกต้อง และความน่าสนใจของเนื้อหาบทความ ด้วยใจที่เป็นกลางและปราศจากอคติ คำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ และให้ข้อเสนอแนะ แนวทางการปรับปรุงแก้ไขบทความที่สร้างสรรค์เชิงวิชาการ และชัดเจนในเชิงประจักษ์
2. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับ และไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของบทความที่ส่งให้พิจารณา แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
3. ผู้ประเมินบทความต้องมีความเชี่ยวชาญในหัวข้อเรื่องที่ประเมิน และต้องประเมินโดยคำนึงถึงคุณภาพบทความเป็นหลัก ให้ข้อเสนอแนะตามหลักการทางวิชาการ เมื่อพบว่าตนอาจไม่มีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาในระดับที่มากพอจะวิจารณ์บทความเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างมีคุณภาพ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งปฏิเสธการประเมินบทความให้กองบรรณาธิการฯ ทราบ
4. หากผู้ประเมินบทความพบความซ้ำซ้อนของบทความที่กำลังพิจารณา กับบทความแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ผู้ประเมินต้องแจ้งให้ บรรณาธิการของวารสารทราบทันที
บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)
1. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาว่า บทความที่ส่งเข้ามานั้นมีความเหมาะสม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ขอบเขตของวารสารสมาคมคณิตศาสตรศึกษาหรือไม่ ในกรณีที่เนื้อหาบทความไม่เหมาะสม สอดคล้องกับวารสารฯ บรรณาธิการต้องรีบแจ้งให้ผู้เขียนบทความได้รับทราบ รวมทั้งไม่รับตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ในวารสาร หรือ เอกสารหลังการประชุมทางวิชาการอื่นมาแล้ว
2. บรรณาธิการเป็นผู้ส่งต้นฉบับบทความให้กองบรรณาธิการวารสาร เพื่อช่วยพิจารณาคุณภาพเบื้องต้นของบทความที่ส่งเข้ามา ว่าอยู่ในระดับเหมาะสมที่จะส่งต่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความจำนวน 3 ท่าน อ่านพิจารณาในขั้นตอนต่อไปหรือไม่
3. บรรณาธิการหรือกองบรรณาธิการ เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความที่มีความเหมาะสมและเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ในการประเมินบทความ โดยจะไม่เปิดเผยชื่อของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความหรือผู้เขียนบทความให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ทราบโดยเด็ดขาด รวมถึงบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
4. บรรณาธิการต้องไม่ ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความ เพราะความสงสัยหรือไม่แน่ใจ แต่ต้องตรวจสอบหาหลักฐานให้แน่ชัดเสียก่อน และแจ้งให้ผู้เขียนชี้แจงก่อนปฏิเสธบทความนั้น
5. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) รวมถึงการคัดลอกผลงานที่ Generate ด้วยการใช้ AI ของบทความอย่างจริงจัง โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ และบรรณาธิการต้อง “ปฏิเสธต้นฉบับ” บทความทันที หากตรวจสอบพบว่าต้นฉบับบทความที่ส่งมาเสนอตีพิมพ์ในวารสารสร้างหรือแต่งเนื้อหาโดยใช้ AI (AI-Generated Content) และเมื่อตรวจสอบบทความที่ส่งเข้าร่วมใช้เครื่องมือ AI เกิน 30% ของเนื้อหาทั้งหมด
6. เมื่อบรรณาธิการตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น ในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมินบทความดังกล่าวทันที และติดต่อผู้เขียนเพื่อขอคำชี้แจงประกอบการพิจารณา “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้นๆ ซึ่งบรรณาธิการสามารถดำเนินการถอนบทความได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียน ซึ่งถือเป็นสิทธิและความรับผิดชอบต่อบทความของบรรณาธิการ
7. บรรณาธิการเป็นผู้ควบคุมและให้ความสำคัญต่อการตีพิมพ์เผยแพร่วารสาร ให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์และออกตรงตามเวลา อย่างเคร่งครัด
8. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ กับผู้นิพนธ์ ผู้ประเมินบทความ หรือบุคคลอื่น และไม่นำบทความในวารสารไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ