จริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในวารสาร (Publication Ethics)

 

วารสารไอซีทีศิลปากร เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการ ตลอดจนข้อค้นพบใหม่ ๆ ระหว่างนักวิจัยและสังคมภายนอก ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใส จึงได้กำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติที่ดี และจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่บทความตามแนวทางของคณะกรรมการจริยธรรมการตีพิมพ์ (Committee on Publication Ethics [COPE]) โดยแยกตามบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้แต่ง (Duties of Authors)

1. ผู้แต่งต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นเป็นผลงานใหม่ และไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน

2. ผู้แต่งต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของต้นฉบับในทุกกรณี

3. ผู้แต่งต้องได้รับความเห็นชอบในการส่งบทความจากผู้ร่วมเขียน (ถ้ามี)

4. ผู้แต่งต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ

5. ผู้แต่งต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่น หากมีการนำผลงานเหล่านั้นมาใช้ในผลงานของตนเอง รวมทั้งจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความ

6. ผู้แต่งต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนดไว้

7. ผู้แต่งต้องตรวจสอบจนมั่นใจว่ารายละเอียดทุกส่วนในบทความที่จะตีพิมพ์ในวารสารถูกต้องและต้องเป็นไปตามหลักจริยธรรมสากลที่ได้รับการยอมรับ

8. ผู้แต่งต้องยอมรับคำวิจารณ์ และสามารถชี้แจงตอบกลับได้โดยมีข้อมูลสนับสนุนการวิจัยอย่างครบถ้วน

9. ผู้แต่งต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัย (ถ้ามี)

10. ผู้แต่งต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)

 

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)

1. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่ตนรับผิดชอบ

2. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้แต่ง และผู้ประเมินบทความ แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ

3. บรรณาธิการต้องตัดสินใจคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ

4. บรรณาธิการต้องไม่พิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว

5. บรรณาธิการต้องไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความเพราะความสงสัยหรือไม่แน่ใจ โดยจะต้องหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยเสียก่อน

6. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้แต่ง ผู้ประเมิน และทีมผู้บริหาร

7. บรรณาธิการต้องตรวจสอบบทความในประเด็น การคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจัง โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น

8. หากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้แต่งหลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจงประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น ๆ

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)

1. ผู้ประเมินบทความ ต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ (Confidentiality)

2. หลังจากได้รับบทความจากบรรณาธิการวารสาร และผู้ประเมินบทความตระหนักว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้แต่ง เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือรู้จักผู้แต่งเป็นการส่วนตัว หรือเหตุผลอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ

3. ผู้ประเมินบทความ ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความที่จะมีต่อสาขาวิชานั้น ๆ คุณภาพของการวิเคราะห์ และความเข้มข้นของผลงาน ไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ

4. ผู้ประเมินบทความต้องระบุผลงานวิจัยที่สำคัญ ๆ และสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมิน แต่ผู้แต่งไม่ได้อ้างอิงถึง เข้าไปในการประเมินบทความด้วย นอกจากนี้ หากมีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการรับทราบด้วย